วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้อเสนอเพื่อพัฒนาการนิเทศงานฝึกฯ

สภาพที่เป็นอยู่และปรากฏการณ์ที่พบในงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูภาคเรียนนี้มีข้อเสนอแนะดังนี้ค่ะ...๑.คณะครุศาสตร์โดยฝ่ายฝึกควรจัดรถนิเทศให้ทุกครั้ง   หากงดบริการรถนิเทศก็ควรให้สิทธิ์เบิกค่าน้ำมันรถเพราะต้องใช้รถส่วนตัวเดินทางไปนิเทศทดแทน  ๒.ฝ่ายฝึกควรกำหนดวันนิเทศเพียงเดือนละ๑ครั้ง ไม่ใช่เดือนละ๒ครั้ง หรือไม่ควรห่างหรือติดกันเกินไป นักศึกษาฝากบอกมาค่ะ... ๓.ควรสำรวจข้อมูลสภาพการนิเทศโดยภาพรวมในภาคเรียนนี้เพื่อปรับปรุงและพัฒนางานนิเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

จริยธรรมและภาวะผู้นำที่จำเป็นต่องานนิเทศ

การนิเทศ ติดตามประเมินผล งานฝึกประสบการวิชาชีพครูในระยะนี้ผู้เขียนได้พบความจริงเชิงประจักษ์ว่าผู้นิเทศมีความจำเป็นต้องใช้หลักจริยธรรมและภาวะผู้นำที่สำคัญย่ิง กล่าวคือ อย่างน้อยผู้นิเทศควรมีความรับผิดชอบต่อนักศึกษา ต่อสถานศึกษา ต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ต่อการเป็นที่พึ่งทางวิชาการ ช่วยให้เกิดการนิเทศแบบมีส่วนร่วม เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อทุกฝ่าย ซึ่งควรดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

ถอดบทเรียนการนิเทศวิชาชีพครู

จากการเป็นผู้ปฏิบัติ การสังเกต สัมภาษณ์เชิงลึก และสนทนากลุ่ม พบว่า ความสำเร็จของงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูอยู่ที่ วิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ การสร้างแรงบันดาลใจให้รู้ค่าในศักดิ์ศรีความเป็นครู การสร้างความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ และการนิเทศแบบเสริมพลัง ส่วนอุปสรรค์ต่อความสำเร็จได้แก่ระดับการคิดต่างของผู้มีอำนาจตัดสินใจหนุนเสริมการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนงานนิเทศ การให้บริการด้านพาหนะเดินทาง และความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการตัดสินใจ

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

ปลายทางของงานฝึกประสบการณ์

การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูมาถึงระยะปลายภาคเรียน นักศึกษาคงผ่านเทศกาลงานสอบปลายภาคในสถานศึกษามาเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมเก็บร่องรอยชิ้นงานตลอดภาคเรียนมานำเสนอเพื่อประเมินสรุปครั้งที่สี่กันด้วยนะคะ ใครไม่ถนัดส่งผ่านบล็อกก็ให้แสดงเป็นเอกสาร ส่วนภาพรวมของโรงเรียนให้นำเสนอตามที่ฝ่ายฝึกฯกำหนด โดยมีหัวข้อเสริมคือ "สอนให้สนุกเป็นสุขกับการเรียน"ในวันที 6-7 กันยายน 2555 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัย นักศึกษาทั้งสามโรงเรียนสามารถโทรนัดครูมาพบได้นะคะ รอค่ะ...

รักพ่อ เชื่อพ่อ...รู้จักพอ

คำย่อเพื่อการน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันสู่การปฏิบัติงานครูอย่างมืออาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในศีลธรรมนำความรู้  ความเป็นอยู่เรียบง่าย พอดีพอประมาณ ประหยัด รอบคอบ มีเหตุผล เพื่อปฏิบัติตนฝ่าวิกฤติให้เห็นผลเป็นตัวแบบสำหรับนักเรียน และบูรณาการสอดแทรกในทุกรายวิชาทุกกลุ่มเรียนที่ตนสอน ขยายผลการเรียนรู้สู่ผู้ปกครอง แลกแปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนต้นแบบสามารถเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายได้

สอนให้เป็นวิจัย...วิจัยในสิ่งที่สอน

สอนให้เป็นวิจัย...วิจัยในสิ่งที่สอนเป็นการฝึกทำงานเชิงบูรณาการเพื่อยกระดับคุณภาพการปฏิบัติสู่ประสิทธิภาพจัดการเรียนการสอนให้เกิดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์คุณภาพผู้เรียนโดยใช้กระบวนการวิจัยเคลื่อนงานพัฒนาการสอนทำให้การสอนกับการวิจัยเป็นเนื้องานเดียวกัน การสอนให้เป็นวิจัยและวิจัยในสิ่งที่สอนจึงช่วยให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในตัวบุคคล ส่งผลต่อความเข้มแข็งในวิชาชีพครู ที่มุ่งพัฒนาการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงให้เกิดแก่ผู้เรียน สามารถต่อยอดองค์ความรู้วิชาชีพครูได้อย่างงดงาม...และเป็นที่ยอมรับของสังคม

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

บัณฑิตวิชาชีพครู...อยู่ไหน

อัตลักษณ์บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชมุ่งสร้างบัณฑิตนักคิด นักปฏิบัติ ซื่อสัตย์ สู้งาน เชี่ยวชาญวิชาชีพ อีกทั้งมีจิตวิญญาณความเป็นครู บัณฑิตเหล่านี้มีหน้าตาอย่างไร สร้างได้อย่างไร มีอยู่ที่ไหน ใครรู้บ้างช่วยกันตอบหน่อยจ้า!
เฉลยคำตอบ  อยู่ที่นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู...นี่ใงจ๊ะ!

การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

มนุษย์ทุกคนต้องเรียนรู้ การเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยก่อให้เกิดวงจรการปฏิบัติงานเชิงพัฒนาที่เป็นระบบ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ การวิจัยต้องนำพาการเรียนรู้ การเรียนรู้คืออะไร การวิจัยคืออะไร ใครทำได้...ยกมือ ลง

การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

การทบทวนแนวคิดแนวปฏิบัติจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเป็นสิ่งที่นักศึกษาพึงกระทำก่อนเริ่มกระบวนการ PDCA ในโครงการของตนเองซึ่งควรใตร่ตรองออกแบบให้เห็นชิ้นงานและศักยภาพผู้เรียนที่ชัดเจน แสดงร่องรอยให้เห็นเป็นรูปธรรม และเป็นโครงการที่ดีมากๆหากมีชมรม มีกิจกรรม มีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่องในสถานศึกษา

ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

การดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน คุณภาพชีวิตที่ดีงามของสถานศึกษาและชุมชน ทำได้อย่างไร  เกิดผลอย่างไร นักศึกษามีประสบการณ์ในระบบนี้อย่างไร ลองเขียนเล่าตั้งแต่ขั้นการคัดกรอง ขั้นจำแนกกลุ่มอาการ ขั้นออกแบบเยียวยารักษา ขั้นนำเสนอผลการรักษา รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ระบบการดูแลแบบ"ครอบครัวลูกสองโหล" ของโรงเรียนพรหมคีรีพิทยาคม ระบบการดูแลแบบ"ภายใต้รั้วครอบครัวเดียวกัน"ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครศรีธรรมราช เป็นต้น

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

การประเมินเพื่อพัฒนาตนเอง

การประเมินคือกระจกส่องใจ ใครใจใสใจสะอาดก็ต้องหมั่นส่องกระจกดูใจ ปัดมลพิษที่เรียกว่ากิเลสออกจากตัว เทคนิคการประเมินตนเองสามารถทำได้หลายวิธี ที่ง่ายสุดได้แก่ หาที่เงียบสงบนั่งนิ่งๆ ดูจิต อ่านจิต สอนจิตตนเองแล้วปรับพฤติกรรม สร้างนิสัยที่ดีงามให้ปรากฏพร้อมกับเอาสติกำกับให้เกิดเป็นนิสัยถาวรประจำตัวจนเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในผลดีผลเสียของการกระทำหรือพฤติกรรมที่แสดงออก จึงสามารถแยกแยะดี-ชั่ว, จริง-เท็จ, ควร-ไม่ควร,ได้ชัดเจนนั่นเอง...
งานประเมินตนเองในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูควรแสดงร่องรอยการปร้บปรุงพัฒนาตนเองทั้งตัวและหัวใจรวมทั้งจิตวิญญาณความเป็นครูตามอัตลักษณ์บัณฑิตครุศาสตร์...กันดีมั๊ย...

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

สอบไล่ เอ้ย!... สอบปลายภาค

การประเมินผลรายวิชาควรมาจากการวัดหลากหลายวิธี หลายโอกาส หลายสถานการณ์ และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงความสามารถผู้เรียนทุกด้านตามมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้นในภาคเรียนหนึ่งๆทุกรายวิชาจำเป็นต้องประเมินสรุปผลการเรียนด้วยการสอบปลายภาคหรือสอบไล่ โดยให้สัดส่วนร้อยละ ตามลักษณะวิชาที่ได้ตกลงไว้กับผู้เรียน บางวิชาเน้นดูพัฒนาการระหว่างเรียนมากก็กำหนดสัดส่วน 70:30 นั่นคือให้คะแนนเก็บระหว่างภาค 70 ปลายภาค 30 ดังนั้นการประเมินที่ดีควรมีผลมาจากทั้งระยะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของการประเมิน...นั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะการใช้คำถาม...กระตุกต่อมคิด

คำถามมีหลายระดับ คำตอบก็จะสะท้อนการใช้ระดับสมองคิดแตกต่างกัน การฝึกใช้คำถามที่ดี ถามลึกจะช่วยกระตุ้นเซลสมองให้ทำงานได้เต็มศักยภาพทั้งผู้ถามและผู้ตอบ เราจึงควรฝึกการใช้คำถามระดับลึกโดยหมั่นถามว่า ทำไม? เพราะเหตุใด? อย่างไร? เพราะคำถามเหล่านี้ช่วยกระตุ้นต่อมคิดได้ดี การฝึกทักษะการใช้คำถามจึงจำเป็นมากในวิชาชีพครู เพราะถ้าครูใช้คำถามได้ดีจะช่วยให้ผู้เรียนได้คิดและคิดได้ สามารถแยกแยะถูก-ผิด ดี-ชั่ว จริง-เท็จ ได้ชัดเจนขึ้น จะส่งผลให้พฤติกรรมที่แสดงออกมาภายนอกเป็นไปตามลักษณะที่พึงประสงค์มากขึ้น...มาฝึกใช้คำถามกระตุกต่อมคิดกันเถอะ...

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

บทเรียนท้องถิ่น...ฐานรากของชุมชน

การนิเทศครั้งสุดท้ายภาคเรียนนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารมาร่วมวงเสวนา สาระสำคัญที่มองเห็นตรงกันคือการเรียนรู้ของนักเรียนจำเป็นต้องรับใช้วิถีชีวิต ภูมิท้องถิ่นของตนเอง บทเรียนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างให้เกิดแก่ผู้เรียนมากกว่าการเรียนในห้องสี่เหลี่ยม นักศึกษาจึงจะได้ประสบการณ์วิชาชีพครูเพื่อถิ่นดังสังคมคาดหวัง ภาคเรียนต่อไปจึงต้องการเห็นโครงการเสริม หน่วยการเรียน บทเรียนท้องถิ่น ผลิตสื่อจากวัสดุเหลือใช้ ใช้แหล่งเรียนรู้ในถิ่นกันมากขึ้นในทุกวิชาเอกของการนิเทศและในภาพรวมของโรงเรียน โดยไม่ลืมเชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวให้เด่นชัดนะคะ...การบ้านช่วงปิดภาคเรียนนี้ค่ะ...

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะการคิดแยบคาย

โยนิโสมนสิการหรือการคิดแยบคาย เป็นการใส่ใจคิดหาเหตุก่อเกิดปัญญา เป็นวิธีคิดที่มีประโยชน์มากสามารถนำมาใช้ในการคิดวางแผนทำวิจัย ทำงาน แก้ไขปัญหา ช่วยการตัดสินใจ วิเคราะห์ ติดตามผลการทำงาน มี 4 หลักคือ อุบายมนสิการ คิดด้วยวิธีการที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ความจริง ปถมนสิการ คิดอย่างมีระเบียบเป็นขั้นตอนตามลำดับเหตุและผล การณมนสิการ คิดค้นหาสาเหตุและผล หาความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่ต่อเนื่องแบบลูกโซ่ และอุปปาทกมนสิการ คิดแบบกำหนดเป้าหมายกำหนดผลล่วงหน้าเพื่อเป็นกำลังใจให้ตนเองทำงานสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ทักษะการคิดแบบโยนิโสมนสิการจึงสามารถฝึกฝนให้เกิดแก่ผู้เรียนได้..ลองใช้ดูนะคะ..

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

เทศกาลงานสอบ...ในวิถีครู

ช่วงนี้มีกิจกรรมสำคัญที่สถานศึกษาทุกระดับกำลังดำเนินการคือจัดสอบปลายภาคเรียนเพื่อประมวลความรู้และตัดสินผลการเรียน บทบาทกรรมการคุมสอบทำให้ได้ข้อคิดข้อสังเกตที่ควรนำมาบอกเล่าสู่กันฟังเป็นอุทาหรณ์ เช่น ...เอ๊ะ กระโปรงสั้นสาวรำวงนี่ แต่งหน้างิ้วนี่ มาผิดงานกันรึเปล่า...เอ๊ะ ข้อสอบสี่ตัวเลือกนี่ระดับชั้นประถมนะไม่น่าใช่อุดมศึกษา แถมมีอู้ปลายปิดมาอีกเป็นพวง...เอ๊ะ แบบทดสอบฉบับหนึ่งๆถามให้คิดระดับลึกหรือไม่ต้องคิดมีกี่มากน้อย...และเอ๊ะนี่ ทำไมข้อสอบวางทิ้งนอกห้องกับในห้องจึงเหมือนกัน...เดี๊ยะ...งั้นเราก็มาผิดงานกันล่ะสิ...

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

งานครูสร้างคน...งานคนสร้างครู

หมอมีหน้าที่ซ่อมคน ครูมีหน้าที่สร้างคน  แต่ครูที่ดีจะทำหน้าที่ทั้งซ่อมและสร้างคน ครูที่ฝึกฝนมาดีจึงได้ช่ือว่าครูชั้นวิชาชีพหรือครูชั้นครู มีความคล่องแคล่วสามารถทั้งในงานสร้างคนและสร้างครู ทำบทบาทครูของครูได้อย่างลงตัวด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู...เรียกว่าเป็นครูได้ทั้งตัวและหัวใจ...ครูจึงมีภาระอันใหญ่หลวง เป็นผู้ได้โอกาสแห่งการบำเพ็ญบารมีทาน...สร้างปัญญาบารมีที่ยิ่งใหญ่ให้แก่มวลมนุษย์ชาติได้...เช่นนี้เอง...

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะชีวิตและทักษะการงานสำคัญต่อวิชาชีพครู

ได้ยินเสียงสะท้อนมากขึ้นว่าบัณฑิตจบออกมาทำงานไม่ได้ เป็นเพราะขาดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต หลักสูตรขาดความเชื่อมโยงกับประสบการณ์จริง ขาดการสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์การเรียนที่เพียงพอและทันสมัย ดังนั้นนักศึกษาที่จบไปจึงไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานได้ทันที ต้องเรียนรู้กันใหม่ งานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูจึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับชีวิตจริงที่ไม่เพียงเพื่อประกอบอาชีพได้ แต่ควรฝึกให้นักศึกษาสามารถนำประสบการณ์ไปใช้ในการดำเนินชีวิต สร้างวิธีคิดและวิธีทำงานที่ถูกหลักศีลธรรม ด้วยตนเองได้ ...อย่างรู้เท่าทัน...

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะการนำเสนอเพื่อสรุปภาระงานฝึกฯ

อีกสองสัปดาห์ก็จะสิ้นสุดงานฝึกฯของนักศึกษาสิ่งที่ควรรีบดำเนินการคือการสรุปภาระงานฝึกฯนำเสนอต่อสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย  สิ่งที่นักศึกษาทุกท่านควรนำเสนอให้เห็นตัวตนที่ชัดเจน คือแก่นความรู้และประสบการณ์ที่แต่ละคนได้จากการฝึกประสบการณ์ตามภาระงาน   อย่าหลงประเด็นเสนอเพียง ภาพถ่ายกันนะจ๊ะ...

การนิเทศที่ส่งผลต่อความเจริญงอกงาม

ภาคเรียนนี้ได้มีโอกาสไปนิเทศติดตามงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษามาแล้ว ๔ ครั้ง เฉลี่ยเดือนละครั้ง ทำให้ได้เห็นพัฒนาการในงานฝึกทุกด้านชัดเจน เห็นความกระตือรือร้นเพื่อรับการนิเทศ เห็นความเอาใจใส่ของสถานศึกษาที่มาร่วมหารือ ชี้แนะให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุดต่อนักศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนทุ่งสงวิทยาสามารถสนับสนุนให้นักศึกษาทำโครงการสร้างสรรค์ต่อเนื่องได้อีกหลายโครงการ ด้วยความสมัครใจของทุกฝ่าย การนิเทศส่งผลต่อความเจริญงอกงามเช่นนี้เอง...ขอชื่นชมคะ

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะการเขียนรายงานตามภาระงานฝึกฯ

การนำเสนองานเขียนเป็นทักษะสำคัญที่นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูควรได้รับการฝึกฝนให้ชำนาญ จุดเริ่มของงานเขียนมาจากการคิด การปฏิบัติ การอ่าน และการวิพากษ์ บัดนี้ได้มาถึงระยะปลายทางของการฝีกฯ นักศึกษาควรได้แสดงศักยภาพด้านนี้ให้ชัดเจน โดยนำเสนองานผ่านการเขียนรายงานตามภาระงานทั้งหมด นักศึกษาพร้อมหรือยังคะ อาจารย์นิเทศก์ทุกท่านต้องการเห็นร่องรอยเหล่านี้...ขอร่วมชื่นชมในผลงานแห่งความภาคภูมิใจ...นั่นเอง...