วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปีใหม่...ฟ้าใส...ใจสว่าง

"ปีใหม่ ฟ้าใส ใจสว่าง" ปีใหม่นี้ขอให้ทุกท่านคิดดี ทำดี พูดดี  มีปัญญา พลานามัยที่เข้มแข็ง รักษาสถาบันครอบครัว สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไทยให้อยู่ยั่้งยืนนาน...สืบไป...ขอบารมี ธ ปกเกล้า ขอบารมีพระบรมธาตุ ขอคุณพระตรัยรัตนคุ้มครองทุกท่าน ตลอดกาล...เทอญ

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หลักสูตร...กลุ่มวิชาชีพครู

เมื่ออัตลักษณ์ของคณะครุศาสตร์ มรภ.นศ.ระบุว่าต้องการผลิต "ครูที่มีจิตวิญญาณครู" ก็จำเป็นต้องหันกลับมาทบทวนหลักสูตรผลิตครู ทบทวนกรรมวิธีสร้าง กรรมวิธีกำกับและใช้หลักสูตรนี้ โดยเฉพาะทุกรายวิชาในกลุ่มวิชาชีพครูหรือเดิมเรียกหมวดวิชาชีพครู ที่นักศึกษาครูทุกคนต้องเลือกเรียนทุกรายวิชาในหมวดนี้ ทั้งแบบบังคับและเลือกให้ครบตามกำหนดในโครงสร้างหน่วยกิต...คำถามคือ ทำไมครูที่มีจิตวิญญาณครูจึงยังไม่เกิด? หรือเกิดมาแล้วจำนวนเท่าไร? หลักสูตรกลุ่มวิชาชีพครูจำเป็นต้องได้รับการทบทวนอย่างเป็นระบบด้วยกลไกที่เหมาะสมหรือไม่ เพื่อตอบโจทย์คุณภาพครู ครูของครู รวมทั้งครูฝึก  ที่มีจิตวิญญาณครูตามระบุในอัตลักษณ์...

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ครูในถิ่น...สายพันธุ์ที่หลากหลาย

สังคมไทย สังคมเมือง สังคมชนบท สังคมชายขอบ ล้วนมีบริบทที่แตกต่าง จึงต้องการครูที่มีคุณลักษณ์แตกต่าง หลากหลาย ยิ่งมาเจอพายุโลกาภิวัตน์ด้วยแล้ว แหล่งผลิตครูควรสร้างหลักสูตรและระบบผลิตครูที่เหมาะสมนี้อย่างไร?..คำตอบคงไม่ใช่วิธีคิดแบบแยกส่วน ทั้งในเนื้อหลักสูตรโครงสร้างหลักสูตร ระบบและกลไกการบริหารหลักสูตร...ทั้งนี้กระบวนการได้มาซึ่งหลักสูตรจะเป็นหัวใจสำคัญที่สุด...ดังนั้นหลักสูตรก็คือเบ้าหลอมความเป็นครู เบ้าหลอมความเป็นคน..ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์...หลักสูตรจึงต้องมีชีพจร...มีชีวิต...ผู้สร้างและกำกับการใช้หลักสูตรจำเป็นต้องมีคุณธรรมจริยธรรมอย่างยิ่งยวด...เพราะเป็นงานเสี่ยง งานสร้างคนให้ดูแลชีวิต ดูแลองค์กร ดูแลประเทศชาติได้...ในที่สุดนั่นเอง 

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ระบบผลิตครู...โรงเรียนทำเองได้

เมื่อรัฐให้โอกาส ให้ทุน สถานศึกษารับลูกรับกติกา ระบบผลิตครูที่โรงเรียนสามารถทำเองได้จึงเกิดขึ้น ได้ครูในถิ่นพันธุ์ผสม ไทยอังกฤษ นักเรียนครูพื้นถิ่นโกอินเตอร์ เจอแล้วที่นี่ ทำได้แล้ว ทางเลือกการผลิตครูโดยโรงเรียนให้โอกาสและสนับสนุนนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนทุ่งสงวิทยาจึงได้ เพชร ๒ เม็ดงามๆจากนักเรียน ม.๖ นำไปเจียรนัยความเป็นครูที่ประเทศอังกฤษ รอกลับมาฉายแสงอร่ามงดงามที่เมืองไทยต่อไป เป็นอีกแนวคิดหนึ่งในความหว้งของการพยายามพลิกฟื้นคุณภาพครูในวงการศึกษาไทย โรงเรียนทุงสงวิทยาทำได้แล้ว ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ...สำหรับคำอวยพรไม่มีอะไรดีไปกว่า "ลูกจงตั้งใจเรียนให้สำเร็จ กลับมาช่วยงานพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนรอเราอยู่..." ขอบคุณท่านรองวิชาการโรงเรียนที่ให้โอกาสได้พบเมล็ดพันธุ์ "ครูพันธุ์ใหม่" ระบบผลิตครูในถิ่น ศักยภาพที่โรงเรียนก็ทำเองได้...ยินดีมากค่ะ

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิชาที่ควรเรียนในศตวรรษที่21

กู้วิกฤติการศึกษาไทยด้วย  3 วิชาพื้นฐาน ได้แก่ คณิตศาสตร์ การอ่าน การเขียน และ 4 วิชาที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษใหม่ ได้แก่ สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง รวมเป็น 7 วิชาโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เอาวิชาเหล่านี้เป็นเครื่องมือนำสู่คุณภาพชีวิต เรียนแล้วตอบโจทย์ได้ว่า อย่างน้อยดูแลสุขภาพ ดูแลการเงินของตนเองด้วยตนเองลดการพึ่งพิงผู้อื่น มีความเป็นพลเมืองนั่นคือเห็น เคารพ อยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายได้ (จากมติชน 22 ธค.2555) ครูฝึกคิดอย่างไรคะ...หรือขอเพื่มวิชาฝึกเอาชนะกิเลสตัวเองด้วยดีมั้ย?...

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ครูในถิ่น...แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ปรากฏการณ์ขาดครูคุณภาพ ครูไม่มีความสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทย การปฏิรูปการศึกษาจึงควรให้ความสำคัญกับระบบรับเข้าคือการเลือกคนมาเรียนครู นั่นคือสถาบันผลิตครูควรให้สิทธิ์การคัดเลือกนักเรียนที่เป็นตัวแทนมาจากทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ให้ความสำคัญกับ "ครูในถิ่น" ซึ่งจะช่วยกระจายครูไปได้ทั่วผืนดินไทย จะเกิดครูพันธุ์ใหม่ที่รักถิ่น รักศิษย์ และรักแผ่นดินเกิด ไม่ทอดทิ้งโรงเรียน ทิ้งนักเรียน สภาพโรงเรียนร้างจะไม่เกิดขึ้นในชุมชน ขอครูในถิ่นกลับคืนทั้่วผืนดินไทยโดยเร็ว เพื่อหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็งได้ต่อไป... เสียงจากชุมชนที่อ่อนล้า...ขอครูในถิ่นกลับคืนมา...ได้โปรด.

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เดินตามรอยพ่อ ชูช่อชัยพฤกษ์

การนิเทศสามโรงเรียนครั้งที่ผ่านมา ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้หลายประการ ขอให้นักศึกษาหมั่นทบทวนสร้างงานคุณภาพ ปรับภาระงานให้ตรงตัวชี้วัดการประเมินในคู่มือ พร้อมร่องรอยการปฏิบัตินะคะ...สำหรับการไปนิเทศครั้งที่ ๒ พุธนี้  นอกเหนือจากการนิเทศปกติอาจารย์ต้องการตามดูต้นชัยพฤกษ์ที่มอบไว้ให้ปลูกเป็นที่ระลึก อนุสรณ์พืชพรรณแห่งชีวิตที่เราจะกลับมาดูได้ในโอกาสต่อไป ไว้เป็นมรดกการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้ได้เรียนรู้เพิ่มในโรงเรียน อาจารย์เพาะมาเองค่ะ หนึ่งต้น หนึ่งชีวิต หนึ่งความงาม...ชัยพฤกษ์...พันธุ์ไม้งาม สำคัญใฉน ใครไคร่รู้...

เรียนรู้จากการสัมมนาระหว่างฝึก

เป็นโอกาสดีและคาดหวังจะได้เจอนักศึกษาพร้อมหน้ากันทั้งสามโรงเรียน นัดแนะเป็นที่เรียบร้อยแต่ก็ต้องผิดหวังเพราะไม่มีช่วงเวลาให้อาจารย์นิเทศประจำโรงเรียนพบได้เลย จึงได้เพียงเป็นผู้สังเกตและน่าชื่นชมเมื่อเห็นสปิริตของ ดร.จิด ดร.อภิชาติ ที่นอกจากนิเทศมากทั้งจำนวนโรงเรียนและจำนวนนักศึกษาแล้วยังมาช่วยเป็นวิทยากรกระบวนการให้นักศึกษาถอดบทเรียนหาฺครูฝึกที่ทำแผนการสอนได้ดี ทั้งได้ทบทวนเน้นย้ำในหลักกติกา คาดว่าจะนำไปใช้ปรับแผนสู่การปฏิบัติให้ดีขึ้นได้ ปรับกระบวนท่าใน ๗ ภาระงานได้แล้ว นักศึกษาทุกคนอย่าลืมเชื่อมงานผ่านบล็อกของตนเองมาให้อาจารย์ดูด้วยนะคะ...

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปรับกระบวนท่า...สัมมนาระหว่างฝึก

ในการสัมมนาระหว่างฝึกวันที่ ๑๕-๑๖ ธันวาคมนี้ นักศึกษา(ปี ๕)คงได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับกระบวนท่าครูฝึกรับAEC ฝึกการสอนคิด ฝึกทักษะครูเพิ่มเติมกันอีกครั้งนะคะ...อย่าลืมทำการบ้านมาก่อน สรุปผลรายงานความก้าวหน้าการดำเนินตามภาระงาน อย่าลืมเชื่อมงานทุกด้านแบบย่อผ่านมาทางบล๊อกด้วยนะคะ...

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คุณธรรมครู และครูฝึก

คุณภาพการศึกษาไทยจำเป็นต้องคุณธรรมนำความรู้ คนเรียนครู คนเป็นครูโดยตำแหน่งของหน่วยงานรัฐก็ควรมีตัวชี้วัดจากการเรียนรู้และสอบธรรมศึกษา มีประกาศนียบัตรธรรมศึกษาเป็นหลักประกันจึงจะเป็นรูปธรรมของการปฏิบัติ โดยเฉพาะบัณฑิต มหาบัณฑิตในระดับอุดมศึกษาควรฝึก บ่มเพาะความเป็นคนดีควบคู่คนเก่ง ทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไปให้ปรากฏในทุกหลักสูตร การเรียนรู้และสอบธรรมศึกษาจึงควรเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของคุณภาพบัณฑิต คุณภาพครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ...ธรรมศึกษา ธรรมาชีพครู หนึ่งในตัวชี้วัด คุณธรรมของครูและครูฝึก...

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ตัวชี้วัด...ข้าราชการครูไทย

คุณภาพการศึกษาไทยโดยรัฐสวนทางกับทุนงบประมาณ ทุนแห่งครูพันธุ์แท้ ภาพของเด็กและเยาวชนไทยจึงปรากฏในปัจจุบัน ทั้งที่มีการถวายสัตย์ปฏิญานตนกันทุกปี รูปธรรมของการปฏิบัติจึงแทบไม่ปรากฏในผู้เรียนโดยรวม การทุจริตคอรัปชั่นฉ้อราชบังหลวงในวงราชการไทยติดอันดับโลก หลงทางหรือไม่ น่าคิด น่าทบทวน อะไรคือตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาไทย...คำตอบคืออะไร?...อาทิ
       ๑.ผู้เรียน: ประพฤติดี มีคุณธรรม มีความเป็นไทย อ่านเขียนไทยชัด คิดเป็น ทำงานเป็น สื่่อสารคล่อง เท่าทันสื่่อ ใส่ใจเรียนรู้ สร้างงานอาชีพ
       ๒.ครูอาจารย์: ประพฤติดี มีจริยธรรมนำวิชาชีพ พึ่งตน รู้จักพอ มีศักดิ์ศรี มีจิตวิณญานครู เป็นอยู่อย่างไทย ใส่ใจสากล
       ๓.องค์กรครู: ผลิตครูในถิ่น มีระบบดูแลหนุนเสริมกันด้วยหัวใจ ลดความเหลื่อมล้ำ มีธรรมมาภิบาล สื่อสารชัดเจนทั่วถึง  มีกองทุนสวัสดิการ ใช้งบตรงวัตถุประสงค์ตอบคุณภาพผู้เรียนคุณภาพครูอย่างมีประสิทธิภาพ  โปร่งใสและตรวจสอบได้  ใช้หลักพอเพียง
            

วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ขอ ธ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

บุญของแผ่นดินไทย พ่อหลวงบันดาลให้ ที่ในยุ้งฉางมีข้าว
น้ำรินดินดีใครเล่า ทุกข์ใดเหิรไปบรรเทา ด้วยพระบาท
เกือบศตวรรษ ธ นำไทยทั้งชาติ พ้นภัย
แผ่นดินถิ่นเมืองทอง ผ่านพ้นโพยภัยเนืองนอง พระทรงคุ้มครองไทยไว้
ธ เป็นพลังแผ่นดิน สมานพลังชีวินของชนชาวไทย
อุ่นใจไพร่ฟ้า พระบุญญาเกริกไกร ภูมิพลมหาราชา
**อ้าองค์สุรีย์ศรี มีธรรมส่อง ปกครองอย่างทรงพระเมตตา
ดุจบิดรเหล่าประชา ทุกข์ร้อนใดใดกรายมา โอ้ฟ้าเป็นดั่งฝนดับไฟ
ภูมิใจไทย ร่วมร้อยหัวใจร่วมใฝ่ร่วมหวัง ภูมิพลัง แผ่นดินถิ่นนี้ยิ่งใหญ่
ภูมิประวัติ ประชาชาติภูมิผไท ภาคภูมิประชาชัย ภูมิพลังแผ่นดิน
เทิดไท้ นบน้อมเทิดทูน ธ เหนือเกล้า สราญนานเนา หทัยสุขล้ำสมจินต์
เพริดแพร้ว พิพัฒน์ เภทภัยพ่ายแพ้สิ้น นวมินทร์มหาราชา ภูมิพล...
              (น้อมนำมาฝากจากบทเพลง ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา)

เย็นศิระ เพราะพระบริบาล

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเวียนมาบรรจบ ได้เห็นสถานศึกษา ส่วนราชการ และส่วนงานต่างๆ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติกันอย่างหลากหลาย มีการเชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติจริงมากขึ้น ในส่วนของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูก็สามารถจัดกิจกรรมนี้ในระดับห้องเรียนได้ เช่น ให้นักเรียนร่วมจัดบอร์ด จัดป้ายนิเทศ จัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ โครงการพระราชดำริ หลักการทรงงาน การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แล้วอย่าลืมเก็บความภาคภูิมใจไว้ในบล๊อกด้วยนะคะ...
                                                                         

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทักษะการคิด วิเคราะห์และเขียน

จากประสบการณ์เข้าสอบธรรมศึกษา ณ สนามสอบมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชปีนี้ ผู้เขียนสามารถพัฒนาศักยภาพด้านการคิดวิเคราะห์และเขียนปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในการสอบวิชากระทู้ ทุกข้อความที่ปรากฏในคำตอบจะผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ เชื่อมโยง ปรับปรน ประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ สังคมโลกยุคปัจจุบัน การได้ฝึกสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์และเขียนในวิชากระทู้จึงเป็นศาสตร์และศิลป์ของการใช้ศักยภาพสมองขั้นสูงที่มนุษย์ทุกคนพึงมี พึงได้รับการฝึกฝน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน พลเมือง พลโลก มนุษย์ทุกคนจึงควรให้โอกาสตนเองมาเรียนรู้และสอบธรรมศึกษากันเถอะ...

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เตรียมพร้อม สอบธรรมศึกษา

ธรรมศึกษา การศึกษาหลักธรรมสำหรับฆราวาสที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปี เป็นโครงการระดับชาติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญ จึงเป็นโครงการในพระบรมราชูปถัมภ์ ปีนี้จัดให้มีการสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2555 ใครได้สมัครสอบไว้กับสนามสอบไหนควรเตรียมตัวสอบกันได้แล้วนะคะ...สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้ขอเปิดสนามสอบมาเป็นปีที่ 3 นักศึกษาครูทุกชั้นปีไม่ควรพลาดกิจกรรมนี้นะคะ ปีนี้ใครได้สมัครสอบไว้คงรู้ตัวและเตรียมพร้อมกันแล้ว ขอให้ผู้เข้าสอบทุกท่านโชคดี สามารถชนะใจตนเองอย่างมีสติและปัญญา ฝึกเรียนรู้เอาหลักธรรมมาสร้างภูมิคุ้มกันตนให้พ้นจากกิเลสครอบงำได้สำเร็จ...ขอให้สอบผ่านกันทุกคน...โชคดีค่ะ...

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรียงร้อยคำบ่มเพาะ...วิชาชีพครู

จากประสบการณ์นิเทศได้ยินคำพูดจากผู้บริหารสถานศึกษา เป็นคำที่มีคุณค่าในการร่วมด้วยช่วยกันบ่มเพาะความเป็นครูให้นำสู่การปฏิบัติหลายคำ เช่น "ครูที่ดีที่สุดคือครูฝึก"  "ลูกเป็นครูนะ ไม่ใช่นักศึกษา"  "เป็นครูทั้งเปลือกและแก่น" และอีกหลายคำ...สามารถช่วยกันเติมเต็มได้นะคะ...

การนิเทศ...ร่วมด้วยช่วยกัน

นับเป็นครั้งแรกของภาคเรียนนี้ที่มีโอกาสเดินทางมานิเทศงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในบทบาทอาจารย์นิเทศประจำโรงเรียน มีนักศึกษามาร่วมเรียนรู้ขั้นทดลองฝึกปฏิบัติงาน(ปี4)เพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง มีผู้บริหารและคณะครูมาให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ นักศึกษาสามารถนำไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ทุกภาระงาน สามารถออกเแบบกิจกรรมชื่อมโยงการเรียนรู้ให้พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเชี่ยน...ครูฝึกทำได้ค่ะ..ช่วยกันเติมความภาคภูมิใจในบล็อกของตนเองด้วยนะคะ...

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กฐิน...อุบายแห่งสามัคคีธรรม

หลังวันออกพรรษาหนึ่งเดือนนับถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองหรือวันลอยกระทงเป็นช่วงเทศกาลกฐินสามัคคีของชาวพุทธ การจัดการเรียนรู้หรือจัดหน่วยการเรียนก็ควรบูรณาการการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ของชุมชน เรียนรู้การจัดพุ่มกฐิน การร่วมขบวนแห่กฐิน การสมโพชกฐิน การทอดกฐิน การกรานกฐิน เหล่านี้ล้วนมีความหมายและเป็นอุบายให้เกิดพลังแห่งความสามัคคี เกิดสามัคคีธรรม เป็นอีกรูปธรรมของตัวชี้วัดความเป็นชุมชนเข้มแข็ง... อันเป็นรากฐานความมั่นคงของชุมชนท้องถิ่นไทยมาแต่โบราณดังมีร่องรอยหลักฐานโรงเรียนวัดเกิดขึ้นมากมาย...ครูฝึกได้มีโอกาสพานักเรียนไปร่วมเรียนรู้กิจกรรมสำคัญนี้บ้างหรือยัง  สะท้อนการเรียนรู้เล่าสู่กันฟังได้นะคะ...

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้หลากหลาย เวทีวิจัยเครือข่าย

ได้รับเชิญเข้าชมงาน การประชุมวิชาการวิจัยระดับชาติ ราชภัฏสุราษฏ์ธานีวิจัย ครั้งที่ 8 "วิจัยเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น" เห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของการบริหารจัดการเครือข่ายวิจัยเชิงพื้นที่ทีเติบโตขึ้นทุกปี การอภิปรายทางวิชาการเรื่องการพัฒนาเชิงพื้นที่ในมิติการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทีมวิทยากรนำโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา รศ.ดร.ประภาภัทร นิยม เน้นความสำคัญของการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ภายในอันเป็นการสร้างปัญญาในตน ให้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งตามเป็นจริง และความเป็นหนึ่งเดียว รูปธรรมของการปฏิบัติคือการจัดการศึกษาทางเลือก โรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนรุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์ สถานศึกษาที่ปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ให้งอกงามสู่สังคมไทย และสังคมโลก...

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กำหนดการนิเทศเพื่อพัฒนา

ขอแจ้งกำหนดการนิเทศเพื่อพัฒนางานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ภาคเรียนที่ 2/2555 สำหรับโรงเรียนทุ่งสง สตรีทุ่งสง ทุ่งสงวิทยา เดือนละ 1 ครั้งรวม 4 ครั้งในวันพุธได้แก่ 21พย.55, 19ธค.55, 30มค.56 และ 13กพ.56 นักศึกษาควรเตรียมพร้อมสำหรับการนิเทศและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะคะ...

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ต้นกล้า วิชาชีพครูหาได้ที่ไหน

ครูดี ครูเก่ง ครูมืออาชีพ ครูที่มีจิตวิญญานความเป็นครู เป็นอย่างไร หาได้ที่ไหน ใครมีคำตอบ...

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อัตลักษณ์บัณฑิตครูอยู่ไหนเอ่ย!..

ความคาดหวังในคุณภาพบัณฑิตส่งผ่านการกำหนดอัตลักษณ์บัณฑิตมีหลายระดับ ทั้งระดับมหาวิทยาลัย "บัณฑิตนักคิดนักปฏิบัติ ซื่อสัตย์ สู้งาน เชี่ยวชาญวิชาชีพ" คณะครุศาสตร์ "ครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู" อยู่ที่ไหน? สร้างได้อย่างไร? มาช่วยกันตอบ...ดีมั้ย...

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แหล่งฝึกประสบการณ์...ห้องเรียนในโลกกว้าง

แหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เป็นเสมือนห้องเรียนสู่โลกกว้างของครูฝึก สถานศึกษาในบริบทชุมชนที่แตกต่างหลากหลายย่อมต้องการครูที่แตกต่างหลากหลายตามบริบทพื้นที่ ครูพื้นถิ่นและครูคืนถิ่นจะมีพลังขับเคลื่อนคุณภาพผู้เรียนได้ดีเพราะมีต้นทุนภูมิสังคมสูง สามารถบูรณาการทุนดังกล่าวมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ส่งผลต่อการเรียนรู้แท้จริงแก่ผู้เรียน ครูฝึกจึงต้องเก่งในการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล โอกาสที่ท้าทายมาถึงแล้วค่ะ...

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเตรียมพร้อมเพื่อการนิเทศ

สำหรับภาคเรียนที่ 2 ของงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายน่าจะมีความพร้อมมากกว่าภาคเรียนที่ผ่านมาเพราะได้เรียนรู้ระบบงานไปแล้วอย่างน้อย 1 ภาคเรียน ความติดขัด ปัญหาอุปสรรคต่างๆน่าจะลดน้อยลง ทั้งนี้เพื่อประสิทธิผลในคุณภาพบัณฑิต สำหรับนักศึกษาควรฝึกปฏิบัติและต่อยอดภาระงานทั้ง 7 เติมเต็มข้อมูลในบล็อกให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ สามารถทำได้กันทุกคนก็จะดีมากๆค่ะ...เก็บความภูมิใจใส่ไว้ในบล็อก...ทำได้ทันทีค่ะ

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

งานฝึก ที่ต้องฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

ในภาคเรียนนี้ นักศึกษาออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู 2 ซึ่งมีภาระงานที่เข้มข้นขึ้นต่างจากภาคเรียนที่ผ่านมา ครูขอเอาใจช่วยนักศึกษาทุกคน โดยขออ้างอิงข้อคิดหลักธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตที่ว่า "เราต้องการของดี คนดี ก็จำต้องฝึก ฝึกจนดี จะพ้นการฝึกไปไม่ได้ งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกคน ฝึกตน ฝึกใจ ฝึกสัตว์ นอกจากตายแล้วจึงหมดการฝึก คำว่าดีจึงเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน"

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความพร้อมก่อนฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

การเตรียมความพร้อมก่อนออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู นักศึกษาสามารถทำได้สองลักษณะคือเตรียมโดยนักศึกษาเองและเตรียมโดยฝ่ายฝึกจัดให้ ซึ่งภาคเรียนนี้ได้จัดเสริมด้านการผลิตสื่อCAIเติมเต็มในงานสอนโดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปสำหร่ับบางหน่วยที่เอื้อตามเหมาะสม ส่วนรูปธรรมของการเตรียมความพร้อมโดยนักศึกษาได้แก่การจัดระบบงานผ่านบล็อกต่อยอดจากภาคเรียนที่ผ่านมา เริ่มกันได้แล้วนะคะ ออกจากจุดสตาร์ทได้แล้วค่ะ เติมภาระงานกันให้ครบตั้งแต่ต้นภาคเรียนดีมั้ย...

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มาดูห้องเรียน ห้องปฏิบัติการวิชาชีพครูกันเถอะ

สภาพอาคารเรียน ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการเป็นกระจกสะท้อนความพร้อมด้านทรัพยากรพื้นฐานที่สำคัญสู่การผลิตครูที่มีคุณภาพออกสู่สังคมด้วยความจริงใจ เป็นต้นน้ำที่ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงไม่เพียงมองแค่การอนุมัติเอกสารหลักสูตร มาตรฐานอาคารเรียน ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการยังเป็นตัวชี้วัดความพร้อมให้นักศึกษาออกสู่แหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพได้ดีอีกด้วย นับเป็นรูปธรรมของปัจจัยเอื้อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ปฏิบัติการวิชาชีพครูก่อนออกสู่ภาคสนามคือสถานประกอบการและท้องถิ่นต่อไป ดังนั้นคุณภาพบัณฑิตหลักสูตรวิชาชีพครูควรสำรวจดูหลักฐานเชิงประจักษ์ในทุกภาคเรียนว่ามีมาตรฐานความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ...ที่เอื้อต่อการเรียนรู้...พร้อมให้นักศึกษาออกสู่แหล่งฝึกประสบการณ์ที่แท้จริงหรือไม่ เพียงใด...มาให้ความสำคัญกับห้องเรียน ห้องปฏิบัติการวิชาชีพครูกันเถอะ...

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ธรรมศึกษา...ธรรมาชีพ ครู

วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง เป็นสัมมาชีพและธรรมาชีพ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชจึงได้สิทธิ์ให้มีหน้าที่สร้างคนดี สร้างครูดี สู่สังคมไทย สังคมโลก...ปีการศึกษา ๒๕๕๐-๒๕๕๓ บัณฑิตหลักสูตรประกาศนีบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูทั้ง ๔ รุ่นได้ผ่านการอบรมและสอบธรรมศึกษาภายใต้โครงการ"ค่ายคุณธรรม บำเพ็ญประโยชน์และสอบธรรมศึกษา"มีผลให้นักศึกษาได้รับประกาศนียบัตรธรรมศึกษาควบคู่ไปด้วย...ปีการศึกษา ๒๕๕๔ มีโอกาสขยายสู่หลักสูตรอื่นทั้งมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้และสอบธรรมศึกษา"ราชภัฏทั่วไทย ร่วมใจสอบธรรมศึกษา เทิดไท้องค์ราชันย์" ส่งผลให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้รับเชิญเข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณสถานศึกษาดีเด่น สถานศึกษาที่มีผู้เรียนสอบธรรมศึกษาได้มาก ๑๐ ลำดับแรกทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔ โดยมติมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ มีข้อความจารึกไว้ ดังนี้
                          
           "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก โปรดประทานพรและอนุโมทนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่ได้จัดการเรียนการสอนและสอบธรรมศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๕๔ มีนักเรียนสอบมากเป็นลำดับที่ ๒ ในคณะธรรมยุต เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ขอจงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนาเทอญ ให้ไว้ ณวันที่ ๑๘ เดือน ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ (สมเด็จพระวันรัต)แม่กองธรรมสนามหลวง (สมเด็จพระพุุฒาจารย์)ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช"
           สมเด็จพระมหามังคลาจารย์ได้กล่าวสัมโมทนียกถาให้โอวาทว่า "จงรักในสามสิ่งนี้คือ รักกตัญญู รักสามัคคีและ รักความดี"

            การเรียนรู้และสอบธรรมศึกษาจึงเป็นหน้าที่ทั้งชาวราชภัฏ ชาวไทยและชาวโลกที่ต้องมีหลักธรรมไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวเพื่อติดอาวุธทางปัญญาในการเดินทางสายกลางสู่การดำเนินชีวิตที่ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน สถานศึกษาทุกแห่งทุกระดับจึงควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีโครงการเรียนรู้และสอบธรรมศึกษาโดยบรรจุให้ชัดเจนในแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการประจำปี(ตอบตัวชี้วัดด้านคุณธรรม)ของสถานศึกษาทุกระดับ...เสริมธรรมประดับครู...มาเรียนรู้ สอบธรรมศึกษากันเถอะ...  

ความเป็นครูต้องคุณธรรมนำวิชาชีพ

หลักยึดในการดำรงชีวิตไม่ให้ไหลไปตามกระแสกิเลสเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันให้เรามีสติในการกอรปกรรมดี เป็นสิ่งที่นักศึกษาควรใฝ่คว้ายิ่ง ห้าปีก่อนจบออกไปเป็นครูอย่างน้อยควรเรียนรู้และสอบผ่านหลักสูตรธรรมศึกษาครี โท เอก ปรากฏอยู่ในทรานสคริป เป็นตัวชี้วัดตามมาตรฐานประกันคุณภาพบัณฑิตด้านคุณธรรม และจะดียิ่งกว่าหากระดับนโยบายการบรรจุครูเข้าสู่วิชาชีพมีผลสอบหรือการผ่านหลักสูตรธรรมศึกษาเป็นตัวชี้วัด เป็นอัตลักษณ์ครูไทยต้อนรับการเปิดประชาคมอาเชี่ยน ประชาคมโลก มาสร้างภูมิคุ้มกันความเป็นครูไทยให้มีคุณธรรมนำความรู้สู่การปฏิบัติงานในวิชาชีพกันเถอะ... สำหรับปีนี้กำหนดสอบพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 3 ธันวาคม 2555 รายละเอียดสอบถามได้ที่ครูกูเกิล"ธรรมศึกษา"...ค่ะ

วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สะท้อนการเรียนรู้จากโรงเรียนทุ่งสง

"อาจารย์มานิเทศตามกำหนดทุกครั้ง ทำให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำงานเป็นดินพอกหางหมู ภาระงานก็มีการเคลื่อนไหวไม่มีการหยุดนิ่ง อาจารย์เป็นบุคคลตัวอย่างได้เป็นอย่างดี มีความน่านับถือและเคารพเป็นอย่างสูง"
( น.ส.วรพรรณ  สุวรรณะ  หลักสูตรสังคมศึกษา)
"ทางโรงเรียนได้เตรียม ให้การต้อนรับ สนับสนุนงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเต็มที่ ทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ในด้านต่างๆทั้งงานกิจกรรม งานเอกสารฝ่ายวิชาการ"
"อาจารย์นิเทศตรงไปตรงมา จี้จุดได้ตรงประเด็น ตรงกับสิ่งที่นักศึกษาสามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาตนเองได้อย่างตรงจุด  ซึ่งจากการนำไปปรับปรุงส่งผลออกมาดีมาก"
( น.ส.มูรนี  บาโด  หลักสูตรวิทยาศาสตร์)
"อาจารย์นิเทศวิชาชีพครูมานิเทศให้คำปรึกษาทุกครั้ง ตรงเวลา ให้ความรู้เสริมโดยใช้บล็อก ติดต่องาน นำเสนองานทางบล็อก ทำให้นักศึกษาต้องทำงานให้เป็นปัจจุบัน อาจารย์เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษา"
(น.ส.กนกวรรณ  เหมทานนท์  หลักสูตรภาษาไทย)
"ประทับใจการให้คำแนะนำของอาจารย์ ตอนแรกคิดว่าอาจารย์ดุ จึงกังวล เครียด แต่พอได้พบเจออาจารย์หลายๆครั้งเข้าก็รู้สึกว่าดิฉันคิดมากไป อาจารย์สอนให้ทำงานเป็นระบบขั้นตอนไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามและท่านพูดด้วยนำเสียงนิ่มนวลมากค่ะ
(น.ส.วันวิสา  ยิ่งประสิทธิ์  หลักสูตรภาษาไทย)
"การนิเทศในแต่ละครั้งอาจารย์จะมาตรงตามเวลาที่กำหนด มาตรงกับวันเวลาที่ได้นัดหมาย ให้คำแนะนำแก่นักศึกษาทั้ง๗ภาระงาน ให้นักศึกษามีความรู้ในการใช้บล็อก ติดต่อประสานงาน ให้คำแนะนำในการทำวิจัย  อาจารย์เป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติงาน"
(น.ส.สีตีอาหยาด  ปีไสย  หลักสูตรวิทยาศาสตร์)
"อาจารย์นิเทศตรงเวลามาก นัดหมายเป็นนัดหมาย อาจารย์มีข้อเสนอแนะมาฝากทุกครั้ง ให้บันทึกการปฏิบัติงานลงในบล็อก ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้และเชื่อมโยงกับอาจารย์ ทำให้ได้รับความรู้ผ่านบล็อกมากขึ้น  อาจารย์มีความรู้ด้านการวิจัยในชั้นเรียนเป็นอย่างดี สอนแนะนำเราได้อย่างเข้าใจ"
(นายชานนท์  แสงสวัสดิ์  หลักสูตรสังคมศึกษา)

สะท้อนการเรียนรู้จากโรงเรียนสตรีทุ่งสง

"ครูนักเรียนให้ความร่วมมือดี รู้สึกผูกพันกับเด็ก รู้สึกดีใจที่คณะครูให้ความเป็นกันเอง ให้คำแนะนำที่ดี สามารถพัฒนาได้ดีขึ้น รู้ถึงความเป็นครูมากขึ้น รู้ว่าหน้าที่ครูที่ดีเป็นอย่างไร"
( น.ส.สุกาญจน์  แก่นอินทร์ หลักสูตรสังคมศึกษา )
"อาจารย์นิเทศตรงตามเวลา ครบทุกครั้งตามที่กำหนด ให้คำแนะนำนักศึกษาฝึกประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนา ใช้ในการเรียนการสอนและสร้างสรรค์ภาระงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างสมบูรณ์"
( น.ส.สุภาวดี  บุญเดช  หลักสูตรสังคมศึกษา )
"ประทับใจโรงเรียนสตรีทุ่งสงมาก ทางโรงเรียนมีความพร้อมทำให้ดิฉันได้รับการพัฒนาตนเองทั้งด้านทักษะการสอน จรรยาบรรณในวิชาชีพครู และภาระงานด้านต่างๆของโรงเรียน เช่น งานวิชาการ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และงานวัดผล
( น.ส.นัยนา  ป่ากว้าง หลักสูตรสังคมศึกษา )

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สะท้อนการเรียนรู้จากโรงเรียนทุ่งสงวิทยา

ผลสะท้อนการเรียนรู้จากงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูโดยนักศึกษาจากโรงเรียนทุ่งสงวิทยา ในวันสัมมนาหลังฝึก ๗ ตุลาคม ๒๕๕๕ ปรากฏดังนี้
 "-ประทับใจการให้ความร่วมมือของนักเรียน การปฏิบัติของบุคลากรในโรงเรียนทุ่งสงวิทยา เมื่อมีปัญหาต่างๆจะได้รับคำปรึกษาจากครูพี่เลี้ยง ครูประจำหมวดคณิตศาสตร์ รวมถึงครูทุกๆท่านในโรงเรียน
  -การนิเทศวิชาชีพครู เป็นสิ่งที่ประทับใจมากเพราะอาจารย์เป็นคนตรงต่อเวลา วางแผนการทำงานได้ดี ใช้บล็อกเป็นสื่อในการติดตามงาน สิ่งสำคัญคืออาจารย์จะพยายามสอดแทรกเนื้อหาและสะท้อนความคิดเห็นของตนเองผ่านบล็อกเสมอ ทำให้นักศึกษามองเห็นค่าของความเป็นครูมากยิ่งขึ้น"
(น.ส.สุนันทา  ศรีทอง หลักสูตรคณิตศาสตร์ โรงเรียนทุ่งสงวิทยา )
"การนิเทศวิชาชีพครูได้ดูแลช่วยเหลือ ติดตามงานของนักศึกษา ทำให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีการนิเทศติดตามครบทุกครั้งและตรงต่อเวลา มีการเชื่อมโยงสื่อสารและเผยแพร่ความรู้ผ่านบล็อก อาจารย์จึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษา ทำให้นักศึกษาสามารถเอามาเป็นแบบอย่างได้ในหลายๆด้านทั้งการดูแลนักเรียน การทำงาน การตรงต่อเวลา ซึ่งจะรู้สึกอบอุ่นและเห็นถึงการเอาใจใส่ของครู เป็นผลให้นักศึกษาได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ดียิ่งจากอาจารย์"
(น.ส.สลาลี  โรจน์สุวรรณ หลักสูตรวิทยาศาสตร์ โรงเรียนทุ่งสงวิทยา)
"การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตลอดภาคเรียนที่ผ่านมา ได้ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งการทำวิจัยอย่างง่าย การทำแผนการสอน การทำบล็อกเชื่อมโยงภาระงาน การนิเทศของอาจารย์แต่ละครั้งทำให้เราได้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่สามารถนำไปปรับแปลี่ยนงานฝึกฯให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้มีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงานเพื่อบรรลุสู่เป้าหมาย ทำให้ประทับใจการฝึกประสบการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างมาก"
( น.ส.รุ่งทิพย์  คงเซ่ง  หลักสูตรวิทยาศาสตร์  โรงเรียนทุ่งสงวิทยา)
"ประทับใจที่ได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากทางโรงเรียน ได้รับคำแนะนำว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรให้สามารถปฏิบัติงานได้สำเร็จจากอาจารย์นิเทศวิชาชีพครู  อาจารย์นิเทศโรงเรียนและครูพี่เลี้ยง  สามารถนำข้อเสนอแนะจากอาจารย์นิเทศวิชาชีพครูไปใช้ในการจัดทำโครงการต่างๆให้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถนำปัญหาในการจัดการเรียนรู้ไปทำวิจัยพัฒนาการเรียนการสอนได้"
( น.ส.สุดารัตน์  รัตนบุรี  หลักสูตรคณิตศาสตร์  โรงเรียนทุ่งสงวิทยา)
"ประทับใจการต้อนรับจากบุคลากรในโรงเรียน อาจารย์นิเทศได้ให้ข้อเสนอแนะการปฏิบัติงานในทุกด้าน สอนในสิ่งที่ไม่รู้ จากเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย  ให้กำลังใจการทำงานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติงาน สอนให้รู้จักวางแผนการทำงาน และการปฏิบัติตน"
( น.ส.ปิยวรรณ  ทองจีน หลักสูตรคณิตศาสตร์ )
"จากการนิเทศทำให้ได้รับข้อเสนอแนะ แนวคิด แนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ครูฝึกได้อย่างดี โดยได้รับความรู้ แนวทางในการปฏิบัติงาน ตลอดจนตัวอย่างการวางตัวให้เหมาะสมกับความเป็นครู ทำให้การปฏิบัติงานวิชาชีพครูในสถานศึกษาครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยดี ช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้ ประสบการณ์ได้อย่างดียิ่ง"
( น.ส.หทัยทิพย์  เดชารัตน์  หลักสูตรวิทยาศาสตร์ )

ครูดีที่สุดในชีวิตครู...คือครูฝึกฯ

"ครูดีที่สุดในชีวิตครู...คือครูฝึกสอนฯ" เป็นคำกล่าวจากใจของผู้บริหารสถานศึกษาท่านหนึ่งในการต้อนรับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่ผู้เขียนรู้สึกดี..ทำให้มีความมั่นคงในวิชาชีพครูของครูมากยิ่งขึ้น...นักศึกษาทุกท่านคงได้ยินชัดเจนเช่นกัน คำกล่าวนี้เป็นการให้เกิยรติ์ผู้ร่วมวิชาชีพ เป็นการให้โอกาสนักศึกษาในการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานตามภาระกิจที่ได้กำหนดไว้ให้บรรลุเป้าหมาย..นักศึกษาทำได้ตามคำกล่าวนี้หรือยัง...

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ค่ายเยาวชนคนดี นครศรีธรรมราช

สิ่งดีที่เก็บมาฝากจากการเรียนรู้ในค่ายเยาวชนคนดีนครศรีธรรมราชสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่๑ทั้งหมดเกือบ๒๐๐๐คน นำทีมโดยวิทยากรต้นแบบจิตอาสาเพื่อสังคม ได้ออกแบบการเรียนรู้กระตุกแรงในระดับจิตวิญญาณด้วยสไตล์เรื่องเล่าเร้าพลังทั้งทางบวกและทางลบจากประสบการณ์ ถอดบทพิสูจน์คำกล่าว"พูดดีไม่ต้องมีเพาเวอร์พ้อยด์"ได้ชัดเจน ใช้เวลา๕วัน๑๐รอบ จุดเน้นอยู่ที่การปลูกฝังจิตสำนึกด้านความซื่อสัตย์ เสริมตัวชี้วัดอัตลักษณ์บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช อีกหนึ่งกิจกรรมดีในรอบปีที่ควรยกย่องสำหรับทีมวิทยากรจิตอาสากลุ่มนี้...ความดีจึงไม่ได้มีไว้เก็บ ต้องลงมือทำ...ทำดีไม่ต้องเดี๋ยว...ขอบคุณสำหรับคนตั้งใจดี คิดดี ทำดี เพื่อสังคม...ดีค่ะ..ขอชื่นชม

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ตัวชี้วัด การเป็นที่พึ่งของชุมชน

ความกระตือรือร้นและรับผิดชอบ... อย่างไร ครูฝึกฯมีคำตอบ.ให้ค่ะ!

สายใยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู

สายใย สายสัมพันธ์แห่งจิตวิญญาณความเป็นครูสามารถสร้าง วัดและสัมผัสได้จากประสบการณ์ปฏิบัติงานนิเทศ บูรณาการแห่งจิตและกายผ่านการปฏิบัติจริงของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูได้ถักทอฉายแววการเป็นต้นกล้าบัณฑิตนักคิด นักปฏิบัติ ซื่อสัตย์ สู้งาน มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญวิชาชีพปรากฏขึ้นแล้ว ต้นกล้าครูพันธุ์ใหม่เป็นที่พึ่งได้ของชุมชน...และนี่เอง...ครูเพื่อถิ่นของแผ่นดินไทย...

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระอัฉริยภาพ...พ่อหลวงของปวงชน

"เศรษฐกิจพอเพียง"แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางพัฒนาบนทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง ใช้ความรู้และคุณธรรมในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี"สติปัญญาและความเพียร"ซึ่งจะนำไปสู่"ความสุข"อย่างแท้จริง ดังนั้นในการทำงานให้ต้ังจิตอธิษฐานตั้งปณิธานขออยู่แบบพอมีพอทาน ไม่รุ่งเรืองอย่างยอดแต่เราจะยอดยิ่งยวดได้(๔ ธ.ค.๒๕๑๗)...ขอเดชะด้วยเกล้า...

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้อเสนอเพื่อพัฒนาการนิเทศงานฝึกฯ

สภาพที่เป็นอยู่และปรากฏการณ์ที่พบในงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูภาคเรียนนี้มีข้อเสนอแนะดังนี้ค่ะ...๑.คณะครุศาสตร์โดยฝ่ายฝึกควรจัดรถนิเทศให้ทุกครั้ง   หากงดบริการรถนิเทศก็ควรให้สิทธิ์เบิกค่าน้ำมันรถเพราะต้องใช้รถส่วนตัวเดินทางไปนิเทศทดแทน  ๒.ฝ่ายฝึกควรกำหนดวันนิเทศเพียงเดือนละ๑ครั้ง ไม่ใช่เดือนละ๒ครั้ง หรือไม่ควรห่างหรือติดกันเกินไป นักศึกษาฝากบอกมาค่ะ... ๓.ควรสำรวจข้อมูลสภาพการนิเทศโดยภาพรวมในภาคเรียนนี้เพื่อปรับปรุงและพัฒนางานนิเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

จริยธรรมและภาวะผู้นำที่จำเป็นต่องานนิเทศ

การนิเทศ ติดตามประเมินผล งานฝึกประสบการวิชาชีพครูในระยะนี้ผู้เขียนได้พบความจริงเชิงประจักษ์ว่าผู้นิเทศมีความจำเป็นต้องใช้หลักจริยธรรมและภาวะผู้นำที่สำคัญย่ิง กล่าวคือ อย่างน้อยผู้นิเทศควรมีความรับผิดชอบต่อนักศึกษา ต่อสถานศึกษา ต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ต่อการเป็นที่พึ่งทางวิชาการ ช่วยให้เกิดการนิเทศแบบมีส่วนร่วม เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อทุกฝ่าย ซึ่งควรดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

ถอดบทเรียนการนิเทศวิชาชีพครู

จากการเป็นผู้ปฏิบัติ การสังเกต สัมภาษณ์เชิงลึก และสนทนากลุ่ม พบว่า ความสำเร็จของงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูอยู่ที่ วิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ การสร้างแรงบันดาลใจให้รู้ค่าในศักดิ์ศรีความเป็นครู การสร้างความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ และการนิเทศแบบเสริมพลัง ส่วนอุปสรรค์ต่อความสำเร็จได้แก่ระดับการคิดต่างของผู้มีอำนาจตัดสินใจหนุนเสริมการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนงานนิเทศ การให้บริการด้านพาหนะเดินทาง และความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการตัดสินใจ

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

ปลายทางของงานฝึกประสบการณ์

การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูมาถึงระยะปลายภาคเรียน นักศึกษาคงผ่านเทศกาลงานสอบปลายภาคในสถานศึกษามาเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมเก็บร่องรอยชิ้นงานตลอดภาคเรียนมานำเสนอเพื่อประเมินสรุปครั้งที่สี่กันด้วยนะคะ ใครไม่ถนัดส่งผ่านบล็อกก็ให้แสดงเป็นเอกสาร ส่วนภาพรวมของโรงเรียนให้นำเสนอตามที่ฝ่ายฝึกฯกำหนด โดยมีหัวข้อเสริมคือ "สอนให้สนุกเป็นสุขกับการเรียน"ในวันที 6-7 กันยายน 2555 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัย นักศึกษาทั้งสามโรงเรียนสามารถโทรนัดครูมาพบได้นะคะ รอค่ะ...

รักพ่อ เชื่อพ่อ...รู้จักพอ

คำย่อเพื่อการน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันสู่การปฏิบัติงานครูอย่างมืออาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในศีลธรรมนำความรู้  ความเป็นอยู่เรียบง่าย พอดีพอประมาณ ประหยัด รอบคอบ มีเหตุผล เพื่อปฏิบัติตนฝ่าวิกฤติให้เห็นผลเป็นตัวแบบสำหรับนักเรียน และบูรณาการสอดแทรกในทุกรายวิชาทุกกลุ่มเรียนที่ตนสอน ขยายผลการเรียนรู้สู่ผู้ปกครอง แลกแปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนต้นแบบสามารถเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายได้

สอนให้เป็นวิจัย...วิจัยในสิ่งที่สอน

สอนให้เป็นวิจัย...วิจัยในสิ่งที่สอนเป็นการฝึกทำงานเชิงบูรณาการเพื่อยกระดับคุณภาพการปฏิบัติสู่ประสิทธิภาพจัดการเรียนการสอนให้เกิดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์คุณภาพผู้เรียนโดยใช้กระบวนการวิจัยเคลื่อนงานพัฒนาการสอนทำให้การสอนกับการวิจัยเป็นเนื้องานเดียวกัน การสอนให้เป็นวิจัยและวิจัยในสิ่งที่สอนจึงช่วยให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในตัวบุคคล ส่งผลต่อความเข้มแข็งในวิชาชีพครู ที่มุ่งพัฒนาการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงให้เกิดแก่ผู้เรียน สามารถต่อยอดองค์ความรู้วิชาชีพครูได้อย่างงดงาม...และเป็นที่ยอมรับของสังคม

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

บัณฑิตวิชาชีพครู...อยู่ไหน

อัตลักษณ์บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชมุ่งสร้างบัณฑิตนักคิด นักปฏิบัติ ซื่อสัตย์ สู้งาน เชี่ยวชาญวิชาชีพ อีกทั้งมีจิตวิญญาณความเป็นครู บัณฑิตเหล่านี้มีหน้าตาอย่างไร สร้างได้อย่างไร มีอยู่ที่ไหน ใครรู้บ้างช่วยกันตอบหน่อยจ้า!
เฉลยคำตอบ  อยู่ที่นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู...นี่ใงจ๊ะ!

การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

มนุษย์ทุกคนต้องเรียนรู้ การเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยก่อให้เกิดวงจรการปฏิบัติงานเชิงพัฒนาที่เป็นระบบ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ การวิจัยต้องนำพาการเรียนรู้ การเรียนรู้คืออะไร การวิจัยคืออะไร ใครทำได้...ยกมือ ลง

การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

การทบทวนแนวคิดแนวปฏิบัติจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเป็นสิ่งที่นักศึกษาพึงกระทำก่อนเริ่มกระบวนการ PDCA ในโครงการของตนเองซึ่งควรใตร่ตรองออกแบบให้เห็นชิ้นงานและศักยภาพผู้เรียนที่ชัดเจน แสดงร่องรอยให้เห็นเป็นรูปธรรม และเป็นโครงการที่ดีมากๆหากมีชมรม มีกิจกรรม มีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่องในสถานศึกษา

ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

การดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน คุณภาพชีวิตที่ดีงามของสถานศึกษาและชุมชน ทำได้อย่างไร  เกิดผลอย่างไร นักศึกษามีประสบการณ์ในระบบนี้อย่างไร ลองเขียนเล่าตั้งแต่ขั้นการคัดกรอง ขั้นจำแนกกลุ่มอาการ ขั้นออกแบบเยียวยารักษา ขั้นนำเสนอผลการรักษา รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ระบบการดูแลแบบ"ครอบครัวลูกสองโหล" ของโรงเรียนพรหมคีรีพิทยาคม ระบบการดูแลแบบ"ภายใต้รั้วครอบครัวเดียวกัน"ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครศรีธรรมราช เป็นต้น

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

การประเมินเพื่อพัฒนาตนเอง

การประเมินคือกระจกส่องใจ ใครใจใสใจสะอาดก็ต้องหมั่นส่องกระจกดูใจ ปัดมลพิษที่เรียกว่ากิเลสออกจากตัว เทคนิคการประเมินตนเองสามารถทำได้หลายวิธี ที่ง่ายสุดได้แก่ หาที่เงียบสงบนั่งนิ่งๆ ดูจิต อ่านจิต สอนจิตตนเองแล้วปรับพฤติกรรม สร้างนิสัยที่ดีงามให้ปรากฏพร้อมกับเอาสติกำกับให้เกิดเป็นนิสัยถาวรประจำตัวจนเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในผลดีผลเสียของการกระทำหรือพฤติกรรมที่แสดงออก จึงสามารถแยกแยะดี-ชั่ว, จริง-เท็จ, ควร-ไม่ควร,ได้ชัดเจนนั่นเอง...
งานประเมินตนเองในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูควรแสดงร่องรอยการปร้บปรุงพัฒนาตนเองทั้งตัวและหัวใจรวมทั้งจิตวิญญาณความเป็นครูตามอัตลักษณ์บัณฑิตครุศาสตร์...กันดีมั๊ย...

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

สอบไล่ เอ้ย!... สอบปลายภาค

การประเมินผลรายวิชาควรมาจากการวัดหลากหลายวิธี หลายโอกาส หลายสถานการณ์ และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงความสามารถผู้เรียนทุกด้านตามมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้นในภาคเรียนหนึ่งๆทุกรายวิชาจำเป็นต้องประเมินสรุปผลการเรียนด้วยการสอบปลายภาคหรือสอบไล่ โดยให้สัดส่วนร้อยละ ตามลักษณะวิชาที่ได้ตกลงไว้กับผู้เรียน บางวิชาเน้นดูพัฒนาการระหว่างเรียนมากก็กำหนดสัดส่วน 70:30 นั่นคือให้คะแนนเก็บระหว่างภาค 70 ปลายภาค 30 ดังนั้นการประเมินที่ดีควรมีผลมาจากทั้งระยะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของการประเมิน...นั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะการใช้คำถาม...กระตุกต่อมคิด

คำถามมีหลายระดับ คำตอบก็จะสะท้อนการใช้ระดับสมองคิดแตกต่างกัน การฝึกใช้คำถามที่ดี ถามลึกจะช่วยกระตุ้นเซลสมองให้ทำงานได้เต็มศักยภาพทั้งผู้ถามและผู้ตอบ เราจึงควรฝึกการใช้คำถามระดับลึกโดยหมั่นถามว่า ทำไม? เพราะเหตุใด? อย่างไร? เพราะคำถามเหล่านี้ช่วยกระตุ้นต่อมคิดได้ดี การฝึกทักษะการใช้คำถามจึงจำเป็นมากในวิชาชีพครู เพราะถ้าครูใช้คำถามได้ดีจะช่วยให้ผู้เรียนได้คิดและคิดได้ สามารถแยกแยะถูก-ผิด ดี-ชั่ว จริง-เท็จ ได้ชัดเจนขึ้น จะส่งผลให้พฤติกรรมที่แสดงออกมาภายนอกเป็นไปตามลักษณะที่พึงประสงค์มากขึ้น...มาฝึกใช้คำถามกระตุกต่อมคิดกันเถอะ...

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

บทเรียนท้องถิ่น...ฐานรากของชุมชน

การนิเทศครั้งสุดท้ายภาคเรียนนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารมาร่วมวงเสวนา สาระสำคัญที่มองเห็นตรงกันคือการเรียนรู้ของนักเรียนจำเป็นต้องรับใช้วิถีชีวิต ภูมิท้องถิ่นของตนเอง บทเรียนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างให้เกิดแก่ผู้เรียนมากกว่าการเรียนในห้องสี่เหลี่ยม นักศึกษาจึงจะได้ประสบการณ์วิชาชีพครูเพื่อถิ่นดังสังคมคาดหวัง ภาคเรียนต่อไปจึงต้องการเห็นโครงการเสริม หน่วยการเรียน บทเรียนท้องถิ่น ผลิตสื่อจากวัสดุเหลือใช้ ใช้แหล่งเรียนรู้ในถิ่นกันมากขึ้นในทุกวิชาเอกของการนิเทศและในภาพรวมของโรงเรียน โดยไม่ลืมเชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวให้เด่นชัดนะคะ...การบ้านช่วงปิดภาคเรียนนี้ค่ะ...

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะการคิดแยบคาย

โยนิโสมนสิการหรือการคิดแยบคาย เป็นการใส่ใจคิดหาเหตุก่อเกิดปัญญา เป็นวิธีคิดที่มีประโยชน์มากสามารถนำมาใช้ในการคิดวางแผนทำวิจัย ทำงาน แก้ไขปัญหา ช่วยการตัดสินใจ วิเคราะห์ ติดตามผลการทำงาน มี 4 หลักคือ อุบายมนสิการ คิดด้วยวิธีการที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ความจริง ปถมนสิการ คิดอย่างมีระเบียบเป็นขั้นตอนตามลำดับเหตุและผล การณมนสิการ คิดค้นหาสาเหตุและผล หาความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่ต่อเนื่องแบบลูกโซ่ และอุปปาทกมนสิการ คิดแบบกำหนดเป้าหมายกำหนดผลล่วงหน้าเพื่อเป็นกำลังใจให้ตนเองทำงานสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ทักษะการคิดแบบโยนิโสมนสิการจึงสามารถฝึกฝนให้เกิดแก่ผู้เรียนได้..ลองใช้ดูนะคะ..

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

เทศกาลงานสอบ...ในวิถีครู

ช่วงนี้มีกิจกรรมสำคัญที่สถานศึกษาทุกระดับกำลังดำเนินการคือจัดสอบปลายภาคเรียนเพื่อประมวลความรู้และตัดสินผลการเรียน บทบาทกรรมการคุมสอบทำให้ได้ข้อคิดข้อสังเกตที่ควรนำมาบอกเล่าสู่กันฟังเป็นอุทาหรณ์ เช่น ...เอ๊ะ กระโปรงสั้นสาวรำวงนี่ แต่งหน้างิ้วนี่ มาผิดงานกันรึเปล่า...เอ๊ะ ข้อสอบสี่ตัวเลือกนี่ระดับชั้นประถมนะไม่น่าใช่อุดมศึกษา แถมมีอู้ปลายปิดมาอีกเป็นพวง...เอ๊ะ แบบทดสอบฉบับหนึ่งๆถามให้คิดระดับลึกหรือไม่ต้องคิดมีกี่มากน้อย...และเอ๊ะนี่ ทำไมข้อสอบวางทิ้งนอกห้องกับในห้องจึงเหมือนกัน...เดี๊ยะ...งั้นเราก็มาผิดงานกันล่ะสิ...

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

งานครูสร้างคน...งานคนสร้างครู

หมอมีหน้าที่ซ่อมคน ครูมีหน้าที่สร้างคน  แต่ครูที่ดีจะทำหน้าที่ทั้งซ่อมและสร้างคน ครูที่ฝึกฝนมาดีจึงได้ช่ือว่าครูชั้นวิชาชีพหรือครูชั้นครู มีความคล่องแคล่วสามารถทั้งในงานสร้างคนและสร้างครู ทำบทบาทครูของครูได้อย่างลงตัวด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู...เรียกว่าเป็นครูได้ทั้งตัวและหัวใจ...ครูจึงมีภาระอันใหญ่หลวง เป็นผู้ได้โอกาสแห่งการบำเพ็ญบารมีทาน...สร้างปัญญาบารมีที่ยิ่งใหญ่ให้แก่มวลมนุษย์ชาติได้...เช่นนี้เอง...

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะชีวิตและทักษะการงานสำคัญต่อวิชาชีพครู

ได้ยินเสียงสะท้อนมากขึ้นว่าบัณฑิตจบออกมาทำงานไม่ได้ เป็นเพราะขาดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต หลักสูตรขาดความเชื่อมโยงกับประสบการณ์จริง ขาดการสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์การเรียนที่เพียงพอและทันสมัย ดังนั้นนักศึกษาที่จบไปจึงไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานได้ทันที ต้องเรียนรู้กันใหม่ งานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูจึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับชีวิตจริงที่ไม่เพียงเพื่อประกอบอาชีพได้ แต่ควรฝึกให้นักศึกษาสามารถนำประสบการณ์ไปใช้ในการดำเนินชีวิต สร้างวิธีคิดและวิธีทำงานที่ถูกหลักศีลธรรม ด้วยตนเองได้ ...อย่างรู้เท่าทัน...

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะการนำเสนอเพื่อสรุปภาระงานฝึกฯ

อีกสองสัปดาห์ก็จะสิ้นสุดงานฝึกฯของนักศึกษาสิ่งที่ควรรีบดำเนินการคือการสรุปภาระงานฝึกฯนำเสนอต่อสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย  สิ่งที่นักศึกษาทุกท่านควรนำเสนอให้เห็นตัวตนที่ชัดเจน คือแก่นความรู้และประสบการณ์ที่แต่ละคนได้จากการฝึกประสบการณ์ตามภาระงาน   อย่าหลงประเด็นเสนอเพียง ภาพถ่ายกันนะจ๊ะ...

การนิเทศที่ส่งผลต่อความเจริญงอกงาม

ภาคเรียนนี้ได้มีโอกาสไปนิเทศติดตามงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษามาแล้ว ๔ ครั้ง เฉลี่ยเดือนละครั้ง ทำให้ได้เห็นพัฒนาการในงานฝึกทุกด้านชัดเจน เห็นความกระตือรือร้นเพื่อรับการนิเทศ เห็นความเอาใจใส่ของสถานศึกษาที่มาร่วมหารือ ชี้แนะให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุดต่อนักศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนทุ่งสงวิทยาสามารถสนับสนุนให้นักศึกษาทำโครงการสร้างสรรค์ต่อเนื่องได้อีกหลายโครงการ ด้วยความสมัครใจของทุกฝ่าย การนิเทศส่งผลต่อความเจริญงอกงามเช่นนี้เอง...ขอชื่นชมคะ

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะการเขียนรายงานตามภาระงานฝึกฯ

การนำเสนองานเขียนเป็นทักษะสำคัญที่นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูควรได้รับการฝึกฝนให้ชำนาญ จุดเริ่มของงานเขียนมาจากการคิด การปฏิบัติ การอ่าน และการวิพากษ์ บัดนี้ได้มาถึงระยะปลายทางของการฝีกฯ นักศึกษาควรได้แสดงศักยภาพด้านนี้ให้ชัดเจน โดยนำเสนองานผ่านการเขียนรายงานตามภาระงานทั้งหมด นักศึกษาพร้อมหรือยังคะ อาจารย์นิเทศก์ทุกท่านต้องการเห็นร่องรอยเหล่านี้...ขอร่วมชื่นชมในผลงานแห่งความภาคภูมิใจ...นั่นเอง...

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทักษะการฟังด้วยหัวใจในวิชาชีพครู

การเป็นครูที่ดีจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะการฟังระดับลึกให้ชำนาญเพื่อเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เรียนให้ได้มากกว่าการฟังเพื่อได้ยิน การฟังระดับลึกจึงเป็นการฟังด้วยหัวใจที่ช่วยให้ได้ความจริงได้ประโยชน์มากกว่าฟังด้วยหู การฟังด้วยหัวใจเป็นทักษะสำคัญของครูและผู้เรียนที่ได้ฝึกใช้ทั้งหัว(ความคิด)และใช้ทั้งใจ(จิต)ติดตามดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ระหว่างครูและศิษย์ได้ดี พร้อมแล้วลองฝึกกันดูนะคะ...

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การอ่านให้เจอขุมทรัพย์แห่งปัญญา

ขุมทรัพย์ที่มีค่ายิ่งกว่าเงินทองทรัพย์สินใดๆ คือปัญญาในตนของมวลมนุษยขาติ ขุมทรัพย์แห่งปัญญาส่วนหนึ่งถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนที่ผู้อ่านจะได้ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลิน ข้อคิดหลักธรรมที่แฝงอยู่ในเรื่องนั้น การอ่านจึงช่วยให้เกิดคลังความรู้ที่สามารถนำมาปรับวิธีคิด วิธีปฏิบัติ สภาวะอารมณ์ของตนเอง ก่อเกิดการพัฒนาตนเองได้ นิสัยรักการอ่านทำให้เราเข้าถึงขุมทรัพย์แห่งปัญญาได้ทางหนึ่ง ดังนั้นการได้อ่านหนังสือหรืองานเขียนทีดีจึงเสมือนเราได้เจอขุมทรัพย์แห่งปัญญา อาชีพครูจึงต้องปลูกนิสัยรักการอ่านให้งอกงาม...เริ่มได้จากตัวเราเอง...นิ๊...

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภาระงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

จากคำอธิบายรายวิชาฝ่ายฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูได้กำหนดให้นักศึกษาปฏิบัตินอกเหนือจากงานสอนอีกอย่างน้อย ๗ ภาระงานได้แก่ ๑.งานประเมินตนเอง ๒.งานดูแลช่วยเหลือนักเรียน ๓.งานส่งเสริมวิชาการ/งานพัฒนา(ที่โรงเรียนมอบหมาย) ๔.งานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ๕.งานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ๖.งานประกอบการจัดการเรียนรู้ ๗.งานบันทึกการปฏบัติงานประจำวัน/สัปดาห์(ควรบันทึกในบล๊อก) นักศึกษาแต่ละท่านได้ปฏิบัติงานเหล่านี้ มีร่องรอยพัฒนาการให้เห็นครบถ้วนกันรึยัง เชิญแสดงความคิดเห็นได้นะคะ

ขอบข่ายการปฏิบัติงานวิชาชีพครูในสถานศึกษา

การปฏิบัติงานวิชาชีพครูในสถานศึกษา๑ เป็นรายวิชาหนึ่งที่มีขอบข่ายให้นักศึกษาได้มี "การศึกษาและปฏิบัติงานในหน้าที่ครูผู้สอน ครูประจำชั้น การปฏิบัติงานการเรียนการสอนและงานสนับสนุนการเรียนการสอนในระดับชั้นและกลุ่มสาระการเรียนรู็ที่ปฏิบัติการสอน บันทึกผลการปฏิบัติงานด้านต่างๆที่แสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาในชั้นเรียน การวัดและการประเมินผลการเรียนการสอน การรวบรวมประสบการณ์ต่างๆ โดยนำเสนอเป็นแฟ้มสะสมงาน"นักศึกษาได้แสดงร่องรอยการปฏิบัติงานและมีพัฒนาการในแต่ละงานเหล่านี้กันรึยัง...จ๊ะ!

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การจัดการเพื่องานนิเทศ ติดตามและประเมิน

ถึงวันกำหนดการนิเทศนักศึกษาแต่ละครั้งผู้เขียนทราบดีว่านักศึกษา "รอ" เพื่อเรียนรู้งานและให้คำแนะนำสังเกตจากมีการโทรตามถามหามาเป็นระยะ การจัดการด้านพาหนะเดินทางจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะหากขาดการนิเทศหรือไปนิเทศไม่ตรงเวลาจะมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งต่ออาจารย์ นักศึกษา และนักเรียนอีกหลายร้อยคน ดังนั้นการตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบของทุกฝ่ายจะต้องประสานกันเพื่อประโยชน์สูงสุดต่องานนิเทศติดตามและประเมิน

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิธีคิดเชิงระบบในงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

งานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูจำเป็นต้องอาศัยวิธีคิดเชิงระบบในการปฏิบัติงานเพื่อให้เห็นวงจรการทำงานที่สามารถตอบโจทย์ประกันคุณภาพในทุกภาระงานได้ครบถ้วน การนิเทศจึงได้เห็นพัฒนาการของนักศึกษาชัดเจนสำหรับบางคนที่สามารถจัดระบบงานของตนเองได้ดี การอธิบายเชื่อมงานกับบล็อกจึงไม่ยุ่งยากนัก ความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบต่อการได้ปฏิบัติจริงในทุกภาระงานจึงปรากฏร่องรอยให้เห็นได้ชัดในระยะนี้

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ขอบข่ายภาระงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

การนิเทศ ติดตาม ประเมินผลในระยะครึ่งภาคเรียนนี้พบว่ายังจำเป็นต้องขอเน้นขอบข่ายภาระงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูทั้ง ๗ ด้านกันอีกครั้งเพื่อทวนสอบความเข้าใจให้ตรงกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางปฏิบัติ นักศึกษาจะได้นำเสนอความก้าวหน้าในภาระงานได้อย่างมั่นใจ มีร่องรอยการปฏิบัติปรากฏให้เห็นเป็นระยะ นำสู่การประเมินได้อย่างมีพัฒนาการค่ะ

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แผนงานนิเทศฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

การออกนิเทศคร้้งแรกในภาคเรียนนี้ต่างจากภาคเรียนก่อนทั้ง๓โรงเรียนได้แก่โรงเรียนทุ่งสง สตรีทุ่งสง และทุ่งสงวิทยา ผู้เขียนได้นิเทศพูดคุยเน้นการวางแผนร่วมกัน จึงมีเค้าว่าจะเกิดเป็นข้อตกลงที่ทุกฝ่ายเกี่ยวข้องยอมรับได้ เกิดความเข้าใจในงานฝึกประสบการณ์ชัดเจนขึ้น สถานศึกษาที่เข้าร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้มองเห็นโครงการความร่วมมือได้ชัดจึงคิดทำโครงการอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าจะเห็นความก้าวหน้าของทุกฝ่ายในการนิเทศครั้งต่อไปนะคะ

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการจัดการชั้นเรียนของนักศึกษาฝึกสอน

ในระยะเดือนแรกของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ให้ข้อมูลตรงกันว่ามีปัญหาการปรับตัวและการบริหารจัดการชั้นเรียนสู่ห้องเรียนคุณภาพ เนื่ิองจากการเป็นครูมือใหม่ ช่วงวัยที่ไม่ต่างกันมาก การลองเชิง การยอมรับ การเรียกร้องความสนใจ การไม่ใส่ใจ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพผู้เรียน เทคนิคการจัดการชั้นเรียนในแต่ละกรณีศึกษาจึงจำเป็นต้องนำสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นักศึกษาท่านใดพบเทคนิควิธีจัดการชั้นเรียนที่ดีขอเชิญแสดงความคิดเห็นนำสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้นะคะ

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทำไมต้องมีการนิเทศ

 การนิเทศเป็นหน้าที่หลักของหน่วยผลิตและพัฒนาครูเพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ภาคทฤษฏีสู่การปฏิบัติจริงในสถานศึกษา อาจารย์นิเทศทุกฝ่ายรวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพให้กับงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู แล้วเราจะนิเทศกันอย่างไรจึงสามารถตอบโจทย์คุณภาพงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชที่มีต้นทุนศักยภาพหลากหลายต่างกันได้อย่างเหมาะสม เรามาลองช่วยกันตอบโจทย์นี้กันดีไหม?

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บูรณาการงานนิเทศกับการวิจัย

การบูรณาการงานนิเทศกับการวิจัยเป็นภารกิจหลักที่จำเป็นสำหรับอาจารย์นิเทศทุกท่าน เพื่อยกระดับคุณภาพและสร้างการเรียนรู้ในระบบการนิเทศ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้หากการนิเทศสามารถบูรณาการเชื่อมโยงได้ครบทุกพันธกิจสู่นักศึกษาและนักเรียน ก็จะยิ่งเพิ่มคุณค่างานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูสู่การประกันคุณภาพผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น งานนิเทศการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูกับการบูรณาการพันธกิจจึงสิ่งที่ควรดำเนินการไปพร้อมกันได้ใช่หรือไม่